เพลงถวายกำลังใจ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี "เพลงในอุ่นอ้อมอกมั่นคง"

PNSOC610810001003401 10082018 110821

 

     กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 8 -10 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา,สปป. ลาว,เมียนมา,เวียดนามและมาเลเซีย,ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน 32 จังหวัดและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  รวม 19 หน่วยงาน ร่วมเข้าประชุม

     วันนี้ (8 สิงหาคม 2561 )เป็นการประชุมหารือข้อเสนอเพื่อสนับสนุนเชิงนโยบายด้านการต่างประเทศตามชายแดน 4 ด้านประเทศ (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และมาเลเซีย) ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางความร่วมในการส่งเสริมความมั่นคงและเศรษฐกิจตามแนวชายแดนกับกระทรวงการต่างประเทศโดยนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนา และการรักษาความมั่นคงพื้นที่ชายแดน ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน 32 จังหวัดควรมีความรู้ความเข้าใจข้อมูลพื้นฐาน ศักยภาพของทั้งพื้นที่ตนเอง และพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องหลักพิธีทางการทูต บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน การจัดทำข้อเสนอควรให้สอดคล้องตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการเปิดจุดผ่อนปรน จุดผ่านแดน การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและการเดินทาง ให้ใช้กลไกการปกครองท้องที่ท้องถิ่นในการเสริมสร้างหมู่บ้านและชุมชนชายแดนเข้มแข็ง การป้องกันแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าผิดกฎหมาย ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมือง และกการค้ามนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี ความสัมพันธ์ของประชาชนกับประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงค่ำ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม

     สำหรับการประชุมในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 จะเป็นการประชุมเต็มคณะระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนทั้ง 32 จังหวัด เพื่อศึกษาโอกาสและความท้าทายและกำหนดมาตรการโครงการนำร่องรวมทั้งกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาจังหวัดชายแดนของไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และวันที่ 10 สิงหาคม 2561 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเป็นประธานการประชุมเต็มคณะเพื่อให้นโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนในมิติด้านการต่างประเทศและรับฟังข้อเสนอของเอกอัครราชทูตและผู้ว่าราชการจังหวัดการประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ถือเป็นกลไกในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลางและภูมิภาคในการส่งเสริมความมั่นคงและเศรษฐกิจตามแนวชายแดนรวมทั้งดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีเอกภาพ และเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพื้นที่ในการกำหนดเป้าหมายสำคัญและแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมความมั่นคงและเศรษฐกิจตามแนวชายแดนให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชายแดนตามกรอบยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาจังหวัดชายแดนของไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

     สำหรับการประชุมวันที่ (10 ส.ค. 2561) เวลา09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมอบนโยบายในการประชุมเต็มคณะกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้านพร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ภายใต้คำขวัญ “เชื่อมโลกสู่ไทย เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมจังหวัดสู่เพื่อนบ้านและโลก” ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศโดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมประชุมครั้งนี้

     นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า รัฐบาลได้ให้หลักการสำคัญด้านการต่างประเทศ คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศอย่างจริงใจ เหมือนการจับมือกันอย่างอบอุ่น หาความต้องการที่แท้จริง เน้นการสร้างความยั่งยืนในทุกระดับทั้งกรอบทวิภาคี พหุภาคีและไตรภาคี สำหรับการสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ต้องครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ การคมนาคม การเดินทางท่องเที่ยว ระดับประชาชน รวมทั้งกฏระเบียบที่ต้องสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันต้องมีกลไกที่สามารถติดตามการลงนามความร่วมมือต่างๆให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน และขอให้กระทรวงต้องไปจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data ) ของตนเอง ขณะเดียวก็ต้องคงอัตลักษณ์ความเป็น ASEAN ด้วย สำหรับการที่ไทยจะรับตำแหน่งประธานอาเซียน ในปีหน้านั้น ไทยจะต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนอย่างแท้จริง ร่วมมือกันขจัดปัญหา อุปสรรคของอาเซียน เพื่ออาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน (Stronger Together) นายกรัฐมนตรีย้ำว่า "การดำเนินงานด้านต่างประเทศมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน จึงต้องบูรณการงานร่วมกัน และต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องเชื่อมโยงประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ ต่างประเทศ จะต้องมีบทบาทเป็น ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ ด้วย คือ เชื่อมไทย เชื่อมโลก ที่แท้จริง"

ที่มา กองการต่างประเทศ สป. มท.

http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNSOC6108100010035