889071_0.jpg

ปลัด มท. ปฐมนิเทศ 10 นิสิต-นักศึกษารัฐศาสตร์ ฝึกงานสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำ มี “Creative Thinking” คิดสร้างสรรค์เพื่อ Change for Good เรียนรู้หลักการครองตน ครองคน ครองงาน บูรณาการการทำงานเป็นทีม ขับเคลื่อนองค์กรแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (4 มิ.ย. 67) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปฐมนิเทศนิสิตและนักศึกษาผู้เข้ารับงานฝึกงานสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายดำรงศักดิ์ ยอดทองดี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ นายมรกต ศรีตูมแก้ว รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองกลาง นางจริยา ชุมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและแผน ผู้อำนวยการกลุ่มงานหน่วยงานระดับสำนัก/กองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 10 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการสร้างเสริมประสบการณ์และส่งเสริมโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการทำงานให้ผู้เข้ารับการฝึกงานได้รับเทคนิคการทำงานควบคู่องค์ความรู้ทางวิชาการ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะวิธีคิด วิธีทำงานในลักษณะการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานภายหลังจากสำเร็จการศึกษาไปเป็นบัณฑิต ซึ่งไม่ว่าจะไปทำงานในภาคราชการ คือ กระทรวง กรม องค์กรอิสระ องค์กรของรัฐประเภทต่าง ๆ หรือในภาคเอกชน คือ บริษัท ห้าง ร้าน ทุกส่วนก็ล้วนแต่มีระบบการทำงาน และมีรูปแบบการทำงานที่ต้องยึดโยงกับระบบราชการ เพราะงานราชการจะต้องเชื่อมโยงเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วน

“ดังนั้นเรื่องที่สำคัญที่ถือเป็นเทคนิคในเบื้องต้นของการทำงานทั้งราชการและเอกชน นั่นคือ “การเขียนหนังสือราชการ” สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงได้มอบหมายให้กองการเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดพิมพ์ “หนังสือการเขียนหนังสือติดต่อราชการและธุรกิจ” โดยขอความอนุเคราะห์ลิขสิทธิ์ของท่านอาจารย์ประวีณ ณ นคร เลขาธิการ ก.พ. คนที่ 3 เพื่อเป็น “คู่มือเล่มแรก” หรือ “ตำราเล่มแรก” สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่ และนิสิตนักศึกษาที่ฝึกงานสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะการทำงานทุกคนต้องมีแบบแผนที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้มีความรู้และประสบการณ์การทำงาน เพราะไม่ว่าจะงานราชการหรือเอกชน จะทำหน้าที่อะไร อาชีพอะไร เราต้องรู้จักหลักในการเขียนหนังสือเพื่อติดต่อราชการ ให้สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน กระชับ ได้ใจความ แต่ไม่ว่าหนังสือจะดีอย่างไร ภูมิปัญญาของผู้ที่ผ่านประสบการณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญจะมีมากแค่ไหน ก็จะไม่เกิดประโยชน์ถ้าพวกเราไม่มี "หัวใจนักปราชญ์" อันประกอบด้วย "สุ จิ ปุ ลิ” โดย "สุ" ย่อมาจาก สุตะ คือ การฟัง ฟังในที่นี้คือการรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานจากหัวหน้างานจากผู้บริหารว่ามีแนวทางในการทำงานอย่างไรมีนโยบายเป็นอย่างไร "จิ" ย่อมาจาก จินตะ คือ การคิด ซึ่งเราควรมีความคิดริเริ่มเมื่อเราได้ฟังมาแล้วว่าเรามีความคิดที่จะทำสิ่งใดบ้างมีความคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่ดีเกิดขึ้น "ปุ" ย่อมาจาก ปุจฉา คือ การถาม เพื่อคลายข้อสงสัย หรือถ้าไม่ต้องการถามเราก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากหนังสือหรือสื่อต่าง ๆ และ "ลิ" ย่อมาจาก ลิขิต คือ การเขียน อันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การอ่าน การฟัง การคิด จะทำให้เกิดการทบทวน ทำให้เกิด “ความรู้” แต่ความรู้หรือทฤษฎี (Theory) จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นการปฏิบัติได้ เราต้องมีการฝึกฝน (Practice) ตัวเอง ด้วยการทดลองทำ ทดลองเขียน ด้วยความอดทน ทุ่มเทในการพัฒนาตนเอง ประการถัดมาที่เป็นหัวใจดวงที่ 2 ของการฝึกงาน นั่นคือ การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (Connection) ทั้งระหว่างเพื่อนร่วมงานที่มาฝึกงานด้วยกัน ระหว่างหัวหน้างานกับตัวเรา และระหว่างเรากับพี่ ๆ ในที่ทำงาน หรือหน่วยงานที่เราได้รับมอบหมายให้ประสานงานระหว่างการฝึกงาน โดยเฉพาะกับพี่ ๆ ที่เราได้ไปฝึกงานด้วยนอกจากจะทำให้เรามีความรู้จากระเบียบ กฎหมายแล้ว ยังจะทำให้เราได้รับ “เคล็ดวิชา” ที่แต่ละท่านได้รับการฝึกฝนแตกต่างกันไป แต่เราในฐานะเด็กฝึกงานก็จะได้รับเคล็ดลับวิชาแบบ fast track จากพี่ ๆ ควบคู่กับความเมตตา ความสนิทสนมกับพี่ ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานอนาคตต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในการทำงาน เรามีลูกพี่ มีลูกน้อง มีเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่ขอให้นิสิตนักศึกษาได้พึงระลึกและปฏิบัติอยู่เสมอ ตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานจนกระทั่งไปเป็นข้าราชการ หรือพนักงานเอกชน ภายหลังจบการศึกษา นั่นคือ “หน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี” ด้วยการทำให้ผู้บังคับบัญชาทำให้สิ่งที่ดีที่เราอยากให้ทำ และในแต่ละวัน แต่ละเวลานั้น เราทุกคนมีโอกาสเท่ากัน ถ้าเรามีความรักองค์กร มีความรักหมู่คณะ เราต้องไม่หายใจทิ้งไปวัน ๆ แต่ต้องใช้ทุกโอกาส ทุกเวลา นาที ในการหมั่นศึกษา เรียนรู้ คิดที่จะ Change for Good ด้วย Creative thinking คิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา และใช้วิธีการในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนแนวความคิด องค์ความรู้กับเพื่อนร่วมงานที่มีความแตกต่างหลากหลายความคิด หลากหลายประสบการณ์ หลากหลายช่วงวัย ด้วยวิธีการที่แนบเนียน เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดต่องานของเรา ต่อองค์กรของเรา เพื่อให้เกิด “การทำงานเป็นทีม” เหมือนแขนงไม้ไผ่มัดรวมกัน (Participation + Open mind) ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "การทำประโยชน์ร่วมกัน" โดยต้องตระหนักเสมอว่า ความรู้ความสามารถของคนคนเดียวจะสู้คนจากหลายหน่วยมารวมกันเป็นแขนงไม้ไผ่ไม่ได้ เพื่อช่วยกันเข็นครกขึ้นภูเขา ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (impossible) ให้เป็นสิ่งที่ทำได้ I'm Possible เวลามีธุระปรักปรำ หรือมีงานการที่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนในทุกที่ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ไม่ว่าเราไปที่ไหนก็มีแต่เพื่อนฝูง พี่น้อง ที่พร้อมให้การสนับสนุน (Support) ดังนั้น การมาฝึกงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่สำคัญที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 10 คนจะต้องทำความรู้จักกัน ต้องรักกัน มีการแลกเปลี่ยนวิธีคิด วัฒนธรรมการทำงาน การเรียนรู้ (Cross culture) ร่วมกัน ทั้งนี้ ในการฝึกงานที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นนี้ หรือแม้แต่การทำงานในอนาคต ถ้าเราไปเจอเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาที่ดี เราก็จะได้เป็นคนที่ดี มีความสามารถเหมือนกับเขา แต่ถ้าเราไปเจอผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรมไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เช่น มัวเมาลุ่มหลงในอบายมุข ดื่มสุรายาเมาเป็นนิจศีลจนเป็นนิสัยเป็นวิถีชีวิต เราก็ต้องหนีห่าง อย่างมืออาชีพ เพราะสุภาษิตไทยสอนไว้แล้วว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” เราสามารถคบพวกเขาได้ ทำงานด้วยได้ แต่ไม่ใกล้ชิดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกับเขา และถ้าเรามีโอกาสในการสนับสนุนคนดีให้ได้เลื่อนระดับ หรือให้ได้รับความไว้วางใจในการทำงาน ขอให้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” มาเป็นหลักชัยในการทำงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของชีวิตการทำงานของคนทุกคน มันเป็นเหมือนกับเนื้อเพลง “ต้องสู้จึงจะชนะ” ที่ว่า ...สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน ต้อง “สู้” ต้องสู้จึงจะ ชนะ... เราจึงต้องไม่ตกอยู่ในความประมาท เพราะจะมีสิ่งเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นได้ ด้วยการมีสติ ไม่ประมาท ใช้ชีวิตแบบมีหลักการ มีคุณธรรม ไม่ไปเลียนแบบหรือทำตามสิ่งที่ไม่ดีให้กับชีวิต เราจึงจะสามารถ “ครองตน” ได้ดี ในส่วนของการ “ครองงาน” เราสามารถคิดริเริ่มให้งานมีมาตรฐาน ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกิดการพัฒนางาน แต่จะทำให้สำเร็จได้ “ใจต้องมาก่อน” และต้องมีจิตอาสา มีทัศนคติที่ดี มีความอยากที่จะช่วยปรับปรุงองค์กร ปรับปรุงงาน ช่วยค้นหาปัญหาและเสนอแนะแนวทางในการพัฒนางาน เป็น Change Agent ที่ไม่นิ่งดูดายที่จะแก้ไขและพัฒนาให้งานและองค์กรดีขึ้น ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเพียรพยายามกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ดังโครงการจิตอาสาพระราชทาน "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" และในเรื่องการ “ครองคน” เมื่อเราเป็นเด็ก เราต้องมีสัมมาคารวะ มีวิธีการในการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่มีหลากหลายช่วงวัย หลากหลายประสบการณ์ มีมารยาทที่ดี มีกาลเทศะ มีอัธยาศัยดีงาม มีน้ำจิตน้ำใจ เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิตในการเป็นที่รัก “หัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จหรือความล้มเหลวอยู่ที่คน” ความสำเร็จต้องเกิดจากคนมีทัศนคติ (Attitude) ที่เป็นบวก และอุดมการณ์ (Passion) ที่ดี ตามมาด้วยองค์ความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) ที่เกิดจากคนหลายคนที่สามารถรวมทีมทำงานจนประสบความสำเร็จได้ (Success = attitude × knowledge x ability) เราต้องอย่ารีรอ เราต้องอ่านหนังสือ ร้องเพลง ฟังเพลง เพื่อจรรโลง พัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาจิตใจ พัฒนา attitude รู้จักเข้าวัดทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระ อ่านหนังสือวรรณกรรมเด็กเยาวชน เพื่อทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ เพื่อทำให้การฝึกงาน ณ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยตลอดห้วงเวลาที่กำหนดนี้ ทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้พัฒนาตนเองเพื่อสร้างคุณค่าให้กับประเทศไทย และภาคภูมิใจในความเป็นสมาชิกของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย การฝึกงานที่นี่จะทำให้ทุกคนได้ทั้งการทำงานและการทำบุญ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีอายุยืนยาวนานมาถึง 132 ปี และขับเคลื่อนงานภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“การฝึกงานของน้อง ๆ ทั้ง 10 คน นอกจากฝึกที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังจะได้ไปเรียนรู้ประสบการณ์กรมในสังกัดอีกทั้ง 6 กรม คือ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ 6 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อทำให้น้อง ๆ รู้จักต้นไม้ของกระทรวงมหาดไทยอย่างละนิด อย่างละหน่อย อันจะทำให้เห็นป่าของกระทรวงมหาดไทย (MOI Forest) ที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นกระทรวงหลักของฝ่ายพลเรือนในการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนให้เกิดความผาสุกอย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 935/2567
วันที่ 4 มิ.ย. 2567

889074_0.jpg889073_0.jpg889072_0.jpg889076_0.jpg889075_0.jpg