S__138838050.jpg

วันนี้ (24 ก.ค. 2566) นายวิภูวรรธน์ กิติวุฒิศักย์ นวท.ชก. ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงในการรับมือกับภัยคุกคามข้ามชาติของไทยและเสริมสร้างรากฐานของความมั่นคงมนุษย์ในการรับมือกับภัยคุกคามอื่น ๆ ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมี นายรัชกรณ์ นภาพิพัฒน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน

การประชุมฯ ประกอบด้วยการบรรยายเกี่ยวกับ
1.การศึกษาแนวทางการพัฒนาการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญกรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาอาชญกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคประกอบกับอาจมีการแฝงตัวเข้ามากระทำผิดภายใต้การท่องเที่ยวมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในการก่อเหตุ เช่น การโจรกรรมอัตลักษณ์บุคคล (Identity Theft) การฉ้อโกงทางคอมพิวเตอร์ (Online Fraud) การค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ทำให้การสืบหาตัวผู้กระทำผิดมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจึงได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 และได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในปัจจุบันก็ไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร

2. โครงการสร้างความรู้ใหม่ให้แก่เยาวชนเรื่องการผลิตซ้ำความรุนแรงโดยสื่อออนไลน์ในสังคมไทย ปัญหาการผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านการแสดงถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ในอดีตมักเกิดขึ้นซึ่งหน้า แต่ในปัจจุบัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เข้าถึงสื่อออนไลน์ง่ายเเละรวดเร็ว จึงทำให้สื่อสังคมออนไลน์นั้นกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถผลิตซ้ำความรุนแรงได้โดยไร้ข้อจำกัด สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการสร้างความรู้ให้แก่เยาวชนเรื่องการผลิตตซ้ำความรุนแรงโดยสื่อออนไลน์ในสังคมไทยผ่าน “ละครการศึกษา” (Educational Drama) เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาในการเรียนได้ดี เนื่องจากผู้เรียนต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์ข่าว การเล่าเรื่อง และการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยลดปัญหาการผลิตซ้ำความรุนแรงบนสื่อออนไลน์ของเยาวชนอย่างยั่งยืน

3. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในประเทศไทยจากภัยคุกคามด้านการก่อการร้าย เป้าหมายของการก่อการร้ายไม่ใช่เพียงมุ่งทำลายชีวิตของพลเมือง แต่เป็นการมุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (Critical Infrastructures) โดยความเสียหายต่อโครงสร้างมักส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การปกป้องพื้นฐานสำคัญ (Critical Infrastructure Protection: ICP) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีการระบุประเภทโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายอย่างชัดเจนและยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่เสี่ยงต่อภัยคุกคาม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจึงได้ดำเนินการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาเกี่ยวสำหรับการวางแนวทางพัฒนาการปกป้องโครงสร้างพื้นฐาน ผลการศึกษาครอบคลุมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
(1) ข้อมูลเบื้องต้นของโครงสร้างที่สำคัญในประเทศไทย
(2) ลำดับความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญแต่ละประเภท
(3) การจัดเก็บข้อมูลของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทีมีอยู่ปัจจุบัน
(4) ความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
(5) ระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบัน และ
(6) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

S__138838048.jpg