S__39280778_0.jpg

วันนี้ (8 กันยายน 2566) เวลา 14.00-16.30 น. นางสาวสิรภัทร จงวัฒนาบุญ นวท.ปก. ได้รับมอบหมายจาก ผอ.ตท.สป. เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกข้อกำหนดของการนิติกรณ์สำหรับเอกสารมหาชนต่างประเทศ (Convention Abolishing the Requirement of Legalization for Foreign Public Documents: Apostille Convention) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 3 กต. ถนนศรีอยุธยา โดยมี นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทน สป.มท. และ สน.บท. ปค. เป็นอนุกรรมการ สรุปสาระสำคัญการประชุมฯ ได้ ดังนี้

1. ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตามปีงบประมาณ ดังนี้
1.1 ปีงบประมาณ 2566
- คณะอนุกรรมการฯ รวมถึงคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ สำหรับเอกสารของราชอาณาจักรไทย
- กรมการกงสุล พัฒนาระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลเอกสารทะเบียนราษฎรกับ ปค. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมและพัฒนาระบบทะเบียนเพื่อจัดเก็บข้อมูลการออกใบรับรอง Apostille (e-registration)
- กรมการกงสุล ร่วมกับ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และ สถาบันการต่างประเทศ ดำเนินการคู่ขนานในการเตรียมการจัดตั้ง study group เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์แปลเอกสาร เพื่อเสนอ กต. พิจารณาข้อมูลการออกใบรับรอง
- ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 ประเมินความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
1.2 ปีงบประมาณ 2567
- คณะอนุกรรมการฯ รายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการระดับชาติ
- คณะกรรมการระดับชาติพิจารณาความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
- กต. เสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
- ยื่นภาคยานุวัติสารต่อ กต. เนเธอร์แลนด์ โดยมีระยะเวลาให้รัฐภาคีอื่นคัดค้านภายใน 6 เดือน นับแต่วันยื่น และจะมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังสิ้นสุดระยะเวลาคัดค้าน

2. ที่ประชุมเห็นชอบการให้คำนิยามของ “เอกสารมหาชน (public documents)” ตามที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอ โดยเอกสารมหาชนจะครอบคลุมเอกสาร 3 ประเภท อ้างอิงจากประเภทของเอกสารที่ระบุในอนุสัญญาฯ ได้แก่
2.1 เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีของศาล
2.2 เอกสารทางปกครอง
2.3 ใบรับรองทางการซึ่งออกให้กับเอกสารที่ลงนามโดยเอกชน
ทั้งนี้ จะไม่ครอบคลุมถึงเอกสารโนตารี (notarial acts)

3. การเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
3.1 ประเด็นด้านเอกสาร
1) เอกสารขาออก : ฝ่ายเลขาจะมีหนังสือเวียนสอบถามข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับเอกสารมหาชนที่ออกโดยหน่วยงานและกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานออกเอกสารมหาชนดังกล่าว ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานในการรับรองเอกสารที่ผ่านการ Apostille มาใช้โดยตรง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะมีการรับรอง Apostille ในเอกสารนำร่องจำนวน 90 รายการ
2) เอกสารขาเข้า : ราชอาณาจักรไทยจะต้องรับรองเอกสารมหาชนทุกประเภทของประเทศสมาชิกที่ผ่านการรับรอง Apostille แล้ว โดยไม่มีเงื่อนไข หน่วยงานที่มีกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับที่ขัดต่อหลักการดังกล่าว อาจต้องพิจารณาปรับแก้เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ หน่วยงานยังคงสามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายภายใน อาทิ คำแปลต้องได้รับการรับรองจาก สอท. หรือ กรมการกงสุลก่อน
3.2 ประเด็นด้านกฎหมาย : อาจไม่มีความจำเป็นในการออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัติการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
3.3 ประเด็นด้านเทคนิค : ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมการกงสุลเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลลายมือชื่อกับหน่วยงานต่าง ๆ และจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-register สำหรับเก็บรักษาทะเบียน Apostille

S__39280780_0.jpg