S__125272093.jpg

23 ม.ค. 2565 นายวิภูวรรธน์ กิติวุฒิศักย์ นวท.ชก.ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “พ.ร.บ. ซ้อมทรมานและอุ้มหาย เดินหน้าหรือชะลอ ใครได้ ใครเสีย ?” ซึ่งเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชนในการขับเคลื่อนสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผ่านระบบการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Application Zoom)

เวทีเสวนาฯ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นต้น มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นต่างๆ โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ พ.ร.บ. ดังกล่าวจึงมีการกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปรามและมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2565 แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือแจ้ง ยธ. ขอให้ “ขยายเวลา” การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ในเฉพาะหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน เนื่องมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ในด้านงบประมาณ บุคลากร และปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย ทั้งนี้ เวทีเสวนาฯ เห็นว่า หากมีการขยายเวลาบังคับใช้ออกไป จะกระทบต่อการปกป้องสิทธิของประชาชนจากการได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างร้ายแรง

S__125272091.jpg