435515.jpg

วันนี้ (28 มิ.ย. 2566) เวลา 8.30 - 16.30 น. นายภาสกร รัตนสุวรรณ นวท.ปก. ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. 2566 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายอรรถพล สังขวาสี ปศธ. กล่าวเปิดการประชุมฯ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ อาทิ สกร. สพฐ. กสศ. สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ภาคีเครือข่ายและ มท. ทั้งนี้ นางสาวภาวิดา ทรงไชยธราเวช ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สถ. เป็นผู้แทนนำเสนอของ มท. เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการจัดการเด็กตกหล่น โดยสรุปประเด็นการประชุมฯ ได้ ดังนี้
1. การเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในมิติความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ การขับเคลื่อนร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 4 (การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม) การผลักดันการศึกษาโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น และการวิเคราะห์โครงสร้างของระบบการศึกษา เป็นต้น
2. แนวทางการขับเคลื่อนการจัดการเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น อาทิ การทำงานเชิงพื้นที่โดยอาศัยกลุ่มภาคีเครือข่าย รูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่หลากหลาย และการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินสภาพความเป็นอยู่ การค้นหาพัฒนาและส่งต่อเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น เป็นต้น
อนึ่ง ผู้แทนนำเสนอของ มท. ได้กล่าวถึงการดำเนินภารกิจของ มท. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กเร่ร่อนได้รับการศึกษาดูแลจากรัฐ ซึ่งได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้ อปท. สำหรับค่าจ้างครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน ค่าวัสดุการศึกษา และค่าพัฒนาครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน ปัจจุบันมี อปท. เข้าร่วมโครงการ จำนวน 109 แห่ง 76 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนา จำนวน 2,825 คน โดยมีลักษณะการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับ อปท. สพฐ และภาคีเครือข่าย เช่น การค้นหาเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นผ่านกลไกของเครือข่ายต่าง ๆ และการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาส เป็นต้น

435517.jpg

435482.jpg

435454.jpg