240127.jpg

    ตามที่นางวาสนา เตชะวิจิตรสาร ผู้อำนวยการกลุ่มงานอาเซียน นางสาวนญา  พราหมหันต์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ กลุ่มงานอาเซียน กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นางสาวสาวินี  อินทร์ประสิทธิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองแผนงานกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-จีน ว่าด้วยการพัฒนาสังคมและการลดความยากจน ครั้งที่ 17 (17th ASEAN-China Forum on Social Development and Poverty Reduction) ณ เมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2566 จัดโดยศูนย์ลดความยากจนนานาชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีน (International Poverty Reduction Center in China: IPRCC) สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

   1) วันที่ 26 มิถุนายน 2566 การประชุมฯ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “กระชับความร่วมมือระดับภูมิภาค ส่งเสริมการขจัดความยากจน และการพัฒนาชนบท” (Deepen Regional Cooperation, Promote Poverty Reduction and Rural Development) ซึ่งมีการดำเนินการในรูปแบบการกล่าวปาฐกถาของผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบทร่วมกัน 

240123.jpg

     พิธีเปิดการประชุม โดยมี Speaker จากสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกล่าวเปิดงาน อาทิ Mr. LIU Huanxin ผู้บริหารศูนย์การบริหารการฟื้นฟูชนบทแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน Mr. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน Mr.XU Xianhui ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้แทนประเทศไทย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เป็นผู้กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิด

240124.jpg

   ในช่วงบ่ายการประชุมฯ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก เรื่อง การตลาดแบบบูรณาการ การค้า และการลดความยากจนและช่วงที่สอง เรื่อง เสริมสร้างการฟื้นตัวในพื้นที่ชนบท ป้องกันไม่ให้ผู้คนจมกับความยากจนในวงกว้าง ซึ่งมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน สรุปประเด็นสำคัญโดยสังเขป ได้ดังนี้

  1) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation, TPA)
      มาตรการการช่วยเหลือผู้ยากจนของรัฐบาลจีนไม่ใช่การหว่านแห แต่คือการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย มีกระบวนการค้นหาสาเหตุและปัจจัยของปัญหาความยากจนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยมีการออกแบบนโยบาย กลไกและสถาบันในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อที่จะให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยรัฐบาลท้องถิ่นที่ดูแลต้องเข้าไปสอดส่องและติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ทำให้คนที่พ้นจากความยากจนแล้วกลับมาจนอีก ทั้งนี้ จีนมีรูปแบบตัวชี้วัดความยากจนที่มุ่งเน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ กล่าวคือ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี “หลุดพ้นจาก 2 ห่วง 3 กังวล” โดยประชาชนจีนจะต้องหมดห่วงด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งไม่มีความกังวลด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และสาธารณสุข โดยที่จีนจะไม่เน้นการวัดความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้มิติทางเศรษฐกิจหรือรายได้ของครัวเรือนมาเป็นเส้นแบ่งความยากจนเพียงปัจจัยเดียว

  2) กลยุทธ์ประสานความร่วมมือระหว่างภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาความยากจน
      รัฐบาลกลางได้ออกนโยบาย “การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของจีนในการแก้ไขปัญหาความยากจน” โดยการจับคู่เมืองทางภาคตะวันออกซึ่งมีความเจริญและพัฒนาสูงจับคู่กับเมืองยากจนทางภาคตะวันตกของจีน เพื่อให้เมืองที่ร่ำรวยทางภาคตะวันออกช่วยเหลือเมืองยากจนทางภาคตะวันตก เช่น เมืองเซินเจิ้นจับคู่กับเมืองปี้เจี๋ยและเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน เมืองหนิงโปจับคู่กับเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน มณฑลยูนนานจับคู่กับมณฑลกว่างสีจ่วง ตัวอย่างความช่วยเหลือ อาทิ การเข้าไปลงทุนด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการในพื้นที่ การให้เงินช่วยเหลือเพื่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเพื่อการศึกษา รวมถึงการส่งบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชน

348987.jpg

  3) การฟื้นฟูชนบทด้วยการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม
      หนึ่งในแนวทางการแก้จนที่มีประสิทธิภาพคือการดึงภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูชนบทและแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ โดยนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะมีบทบาทในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยพยุงการเติบโตของชนบทได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากในการขยายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะช่วยขยายขอบเขตความเจริญออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เช่น ภาคอุตสาหกรรมสามารถดึงดูดสถาบันทางการเงินและธุรกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ได้มากขึ้น ชาวบ้านสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบส่งภาคอุตสาหกรรมได้ในปริมาณที่มากขึ้น การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การเชื่อมโยงช่องทางการตลาดเพื่อระบายสินค้าผ่านระบบ E-Commerce หรือให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางในการช่วยฟื้นฟูชนบทและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างดี ทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าและการลงทุนในพื้นที่

354218.jpg

    4) การปรับระบบนิเวศเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
        เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยแนวคิดเชิงนิเวศวิทยาโดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อมและการจัดระบบนิเวศของชุมชนและที่อยู่อาศัยของชุมชนใหม่ให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัย เช่น การปรับภูมิทัศน์ของชุมชนให้สะอาด การสร้างพื้นที่ให้มีจุดเด่น (Land Mark) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวการปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่เน้นการปลูกพืชผักผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งแนวทางนี้ไม่เพียงเป็นแค่การเพิ่มมูลค่าและรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

240122.jpg

    ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยประสานงานหลักกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนมีการนำเสนอ เรื่อง แนวทางขับเคลื่อนนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีเป้าหมายคือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” โดยมีกลไกลให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการดำเนินการเป็นไปในรูปแบบการตัดเสื้อให้พอดีตัว “Tailor Made” ที่เน้นการวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาตามบริบทสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่แนวทางเดียวกันทั้งประเทศในรูปแบบ “One size fit all”

พช. เป่ยไห่.png

354215.jpg

    นอกจากนี้ได้นำเสนอกลไกของ ศจพ. ในการแก้จนทุกระดับตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติในระดับพื้นที่ และการตั้งทีมพี่เลี้ยงเข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหาช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด มีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

354217.jpg

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

     2) วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ช่วงโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ผู้นำชุมชนอาเซียน-จีน (The ASEAN-China Village Leaders Exchange Programme) เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน และองค์การระหว่างประเทศ ผ่านการการนำเสนอกรณีศึกษา (Case Study) และปัจจัยความสำเร็จต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของผู้นำชุมชน (Village Leaders) โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก เรื่อง การฟื้นฟูชนบทโดยการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม และช่วงที่สอง เรื่องการป้องกันเชิงนิเวศวิทยาและการลดความยากจน รวมทั้งหน่วยงานและชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนในเมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

240125.jpg

ในส่วนของประเทศไทยมีผู้นำหมู่บ้านต้นแบบจำนวน 2 คน ได้ร่วมนำเสนอปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ โดยสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

       (1) นางสุนิสา แป้นขาว ในฐานะผู้นำชุมชนบ้านวัดเกตุ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ได้นำเสนอเรื่องบทบาทการเป็นผู้นำชุมชน นายกสมาคมประชาอาสาพัฒนาชุมชน หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อแก้ปัญหาและให้โอกาสแก่สตรีที่ขาดโอกาสในสังคมในการใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาอาชีพ สวัสดิภาพ สวัสดิการให้แก่เครือข่ายสตรี และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ ผ่านการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้านเพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมพัฒนาเป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก

      (2) นายชายสิทธิ์ สุวรรณโชติ นายอำเภอนิคมคำสร้อย ในฐานะผู้นำชุมชนนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมกับคณะของบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทของผู้บริหารอำเภอกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการขจัดความยากจน ความสำเร็จในการขับเคลื่อน "โครงการหม่อนแก้จน" โดยนิคมสร้างตนเองคำสร้อย ซึ่งถือเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาความยากจนให้ชุมชน ด้วยการปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมในครัวเรือน 

123 Untitled.png