240432.jpg

    ระหว่างวันที่ 28- 29 มิถุนายน 2566 นางวาสนา เตชะวิจิตรสาร ผู้อำนวยการกลุ่มงานอาเซียน นางสาวนญา พราหมหันต์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ กลุ่มงานอาเซียน กองการต่างประเทศ สป. และนางสาวสาวิณี อินทร์ประสิทธิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองแผนงาน กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-จีน ว่าด้วยการพัฒนาสังคมและการลดความยากจน ครั้งที่ 17 ณ เมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24 - 30 มิ.ย. 2566 จัดโดยศูนย์ลดความยากจนนานาชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีน (International Poverty Reduction Center in China: IPRCC) และได้มีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานในนิคมอุสาหกรรม บริษัท หมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของเมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของราชวงศ์ฮั่น เมืองขนมอบในนิคมอุตสาหกรรมเหอปู่ บริษัท กว่างซีเหอเถียน เป่าหลงฟู๊ด จำกัด อุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์เฟนจิ หมู่บ้านผิงซินปาอีในเมืองฟู่เฉิง หมู่บ้านชิกิในเขตไห่เฉิง และป่าชายเลนโกลเด้นเบย์ในเมืองเป๋ยไห่ สรุปสาระสำคัญในเบื้องต้น ได้ดังนี้

 (1) ณ พิพิธภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของราชวงศ์ฮั่น (The Han Dynasty Culture Museum) ที่เมืองเหอปู่ ภายในสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันลึกซึ้งของเหอปู่ในฐานะท่าเรือเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเลในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยชื่อเมือง "เหอปู่" (Hepu) แปลว่า "สถานที่ที่แม่น้ำไหลมาบรรจบกันในทะเล" เป็นหนึ่งในท่าเรือเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเล และเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมจีนกับศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 (2) เมืองขนมอบ (The Baking town) ในนิคมอุตสาหกรรมเหอปู่ ที่ก่อสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 2017 เป็นการยกระดับวัฒนธรรมการทำขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งเป็นขนมพื้นเมือง ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจแบบครบวงจร หนึ่งในโมเดลการแก้ไขความยากจนที่ประสบความสำเร็จของมณฑลกว่างสีที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

 (3) บริษัท กว่างซีเหอเถียนเป่าหลงฟู๊ด จำกัด (Guangxi Hetian Baolong Food CO., Ltd.) ในนิคมอุตสาหกรรมเหอปู่ซึ่งโดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักในการเลี้ยงเป็ดแบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่การคัดเลือก ผสมและขยายพันธุ์เป็ด เพื่อสามารถผลิตไข่เป็ดคุณภาพสูงถึงวันละ 1 ล้านฟอง นอกจากนั้นบริษัทยังใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าจาก 500 กว่าเมืองทั่วประเทศจีนและมีระบบการบริหารจัดการแบบดิจิตอลโดยใช้ฐานข้อมูล Big Data มาประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ เพื่อขยายตลาดการกระจายสินค้าให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่

240435.jpg

 (4) อุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์เฟนจิ (Fengyi Laying Hens Industry) เป็นพื้นที่สาธิตอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์แบบทันสมัยที่มีการผลิตไข่ไก่แบบครบวงจรซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินงานห่วงโซ่อุตสาหกรรมไก่ไข่ทั้งหมดในประเทศ มีความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมพันธุ์ไก่ไข่ชั้นนำของโลก ทรัพยากรการผลิต การปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยี และการตลาด มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายไข่ไก่คุณภาพสูง ซึ่งใช้หลักการบริหารโดยอาศัยความร่วมมือตามโมเดล “สามประสาน” ในการสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และรัฐบาล โดยท้องถิ่นจะช่วยสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้และเงินทุนจากกองทุนที่ใช้สำหรับภารกิจด้านการขจัดความยากจนโดยเฉพาะเพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชน

240436.jpg

 (5) หมู่บ้านผิงซินปาอี (Pingxin Bayi Village) หมู่บ้านที่เคยยากจนมากมาก่อน แต่หลังจากมีการปรับปรุงการเกษตรด้วยการสร้างอุตสาหกรรมการปลูกผักและผลไม้เรือนกระจก (Green House) ภายใต้การแนะนำและการสนับสนุนของคณะกรรมการพรรคท้องถิ่นและรัฐบาล หมู่บ้านมีการพัฒนาการปลูกผักและผลไม้เรือนกระจกอย่างจริงจัง ทำให้เกษตรกรมีความเจริญรุ่งเรืองและร่ำรวยมากขึ้น ปัจจุบันได้สร้างฐานสาธิตการปลูกที่ได้มาตรฐานปลอดมลพิษมากกว่า 300 หมู่บ้าน เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ฐบาลมีเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างบ้านในแบบให้เปล่าเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนทำให้ทุกครอบครัวมีที่อยู่อาศัยครบทุกครัวเรือน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ทำให้หมู่บ้านนี้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ อีกทั้งยังทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

240437.jpg

  (6) หมู่บ้านชิกิ (Chixi Village) เดิมทีเป็นหมู่บ้านที่มีความแห้งแล้งอย่างรุนแรงมาก จากนั้นผู้นำชุมชนตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้เกิดน้ำใสและภูเขาอุดมสมบูรณ์ โดยเริ่มจากการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างท่อระบายของเสียและการปรับสภาพน้ำเน่าเสีย จัดหาอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดถนนและกำจัดของเสียจากครัวเรือนได้ครบ 100% รวมทั้งยังได้จัดสร้างทึ่พักอาศัยด้วยเงินลงทุนกว่า 18 ล้านหยวน (ประมาณ 90 ล้านบาท) ปรับปรุงลานสาธารณะ 69 แห่ง จัดสวนดอกไม้ทุ่งผลไม้คิดเป็นพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร และฟื้นฟูป่าคิดเป็นพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร จากนั้นมีการริเริ่มโครงการเปลี่ยนชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยสร้างจุดเด่นสำคัญเป็น สวนสาธารณะที่สวยงาม และมีกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการปลูกผักผลไม้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเก็บผักผลไม้ในโรงเรือนได้ด้วยตนเองซึ่งถือเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

240438.jpg

  (7) ป่าชายเลนโกลเด้นเบย์ในเมืองเป๋ยไห่ (Golden Bay Mangrove Ecological Reserve of Beihai) เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของเมืองเป่ยไห่ โดยอ่าวมีลักษณะเป็นรูปวงเดือน เป็นพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่หายาก จุดชมวิวมีพื้นที่ 6,000 เมตร และชายฝั่งยาวประมาณ 4.5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำกึ่งเขตร้อนชายฝั่งทะเล ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมือง โดยทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีนักท่องเที่ยวที่มาชมป่าชายเลนเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านโดยรอบได้เป็นอย่างดี

240439.jpg