266231.jpg

     วันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. น.ส.ภณิชชา ลิ่มสกุล และ น.ส.นญา พราหมหันต์ นวท.ชก ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเสวนาความมั่นคง (วงเปิด) ครั้งที่ 3/2566 เรื่อง การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่อินโด – แปซิฟิก (Strategic Competition in the Indo-Pacific Region) ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส จัดโดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

266232.jpg

    - ผศ. ดร. ธีวินท์ สุพุทธิกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงบทบาทความร่วมมือของญี่ปุ่นกับยุทธศาสตร์อินโด-เปซิฟิก ที่คำนึงถึงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเกาะ มีทรัพยากรอย่างจำกัด และจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกับประเทศอื่น ๆ(Interdependent Stat) โดยการที่ญี่ปุ่นต้องการทรัพยากรภายนอก ทำให้ใช้วิธีการทูตเพื่อสานสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อทำการค้าขาย มองผลประโยชน์แห่งชาติโยงกับสวัสดิภาพของระเบียบโลก ต้องร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อสร้างเสถียรภาพของระเบียบภูมิภาค และตั้งแต่ปี 2015 ในสมัยนายกอาเบะ ญี่ปุ่นมีกฎหมายความมั่นคงใหม่ โดยมีกลไกป้องกันปราบปรามร่วมกับพันธมิตรสหรัฐ ในการใช้ “สิทธิป้องกันตนเองร่วม” แบบจำกัด (“Limited exercise” of the right of collective self-defense) โดยเงื่อนไขหลักในการพิจารณาว่าเป็นภัยอย่างชัดเจน “ต่อความปลอดภัย” ของญี่ปุ่น ไม่มีหนทางอื่นแล้ว และใช้กำลังในระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น

    - ผศ.ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวถึงบทบาทของอินเดียกับการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่อินโด – แปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันอินเดียได้ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น โดยเข้ามามีบทบาทในความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือในกรอบมหาสมุทรอินเดีย กรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สําหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ความร่วมมือในกรอบมหาสมุทรแปซิฟิกและส่วนขยายสู่อินโดแปซิฟิก เป็นต้น โดยมุ้งเน้นการเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล ส่งเสริมด้านการศึกษาและวิจัย โดยใช้วิธีทางการทูตเชิงการศึกษา ผ่านการสนับสนุนทุนให้กับนักศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลก จนกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ทรงพลังของอินเดีย ร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการทหาร ขยายอิทธิพลสร้างเส้นทางการค้า-คมนาคมที่เน้นยุทธศาสตร์ทางทะเล เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) เป็นต้น

    - ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงบทบาทความร่วมมือของออสเตรเลีย กับสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ หลังจากประกาศความร่วมมือในสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และได้จัดตั้ง ‘พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง’ หรือที่เรียกว่า AUKUS ซึ่งเป็นความร่วมมือในการจัดการและปรับปรุงสภาพแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะยาว โดยภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีนี้ มีเนื้อหาข้อตกลงในสนธิสัญญา ที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะช่วยให้ออสเตรเลียได้ครอบครองเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อ ‘คานอำนาจ’ และท้าทายโดยตรงต่อจีนที่มีอิทธิพลเหนือน่านน้ำในภูมิภาคนี้

สำหรับท่าทีของประเทศไทยในการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่อินโด – แปซิฟิก จำเป็นต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่และทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อความร่วมมือต่าง ๆ

266234.jpg

266233.jpg