347768.jpg

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนบวกสาม (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น) ครั้งที่ 16 (Sixteenth ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Rural Development andPoverty Eradication: 16th SOMRDPE+3) ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

12366.png

    สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในฐานะประธานการประชุมได้เชิญหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศพันธมิตรบวกสามของอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมการประชุมและอภิปรายประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากและการคุ้มครองทางสังคมเพื่อการบรรเทาความยากจนโดยพันธมิตรทั้งสามได้ยืนยันร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนฯ ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

300577.jpg

    นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนบวกสาม ครั้งที่ 16 พร้อมด้วยผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำเสนอโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ปี พ.ศ. 2564-2568  (FAPRDPE 2021 – 2025) ซึ่งประเทศไทยเป็นหน่วยประสานงานหลัก (Lead Countries) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากประเทศพันธมิตรบวกสามเพื่อขับเคลื่อนโครงการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนฯ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

   1) เวทีเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาโครงการประเภทหนึ่งพื้นที่หนึ่งผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Regional Forum for collaborative development on One Area One Product among ASEAN Member States) ซึ่งเป็นโครงการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและพันธมิตรเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการนำภูมิปัญญาที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์สอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาความยากจนในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนของอาเซียนเพื่อสร้างมาตรฐานตามหลักสากลเพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลก

300572 (1).jpg

   2) การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจากประสบการณ์ของประเทศไทย (Sharing implementing of Experience on Women Empowerment Fund in Thailand) ซึ่งเป็นโครงการในการเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับบริหารจัดการแหล่งเงินทุนให้แก่สตรีและองค์กรของสตรีของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพสตรี โดยเปิดโอกาสให้สตรีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ประเทศพันธมิตรบวกสามได้รายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ปี พ.ศ. 2564-2568 (FAPRDPE 2021 – 2025) อาทิ

   - สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยศูนย์ลดความยากจนนานาชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีน (International Poverty Reduction Center in China: IPRCC) ได้รายงานผลลัพธ์การประชุมอาเซียน-จีน ด้านการพัฒนาชนบทและลดความยากจน ครั้งที่ 17 (The 17th ASEAN-China Forum on Social Development and Poverty Reduction) และผลการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำชุมชน (The ASEAN-China Village Leaders Exchange Programme) ระหว่างวันที่ 24 – 30 มิถุนายน 2566 ณ เมืองเป๋ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อ “กระชับความร่วมมือระดับภูมิภาค ส่งเสริมการขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบท” (Deepen Regional Cooperation, Promote Poverty Reduction and Rural Development) ซึ่งมีผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบท ปัจจัยความสำเร็จต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานของประเทศสมาชิกอาเซียน

   - ประเทศญี่ปุ่นเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและความพยายามที่มีมายาวนานในการพัฒนาชนบทและการบรรเทาความยากจนในภูมิภาค โดยเน้นความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นดำเนินไปผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น กองทุนบูรณาการความร่วมมือญี่ปุ่น-อาเซียน (the Japan-ASEAN Integration Fund: JAIF) โครงการความช่วยเหลือให้เปล่าเพื่อการพัฒนาขั้นพื้นฐาน (Grant Assistance for Grassroots Project: GPP) และความร่วมมือทวิภาคีภายใต้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (The Overseas Development Assistance: ODA) ที่ดำเนินการโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เป็นต้น ซึ่งสาขาความร่วมมือครอบคลุมประเด็นต่างๆ มากมาย เช่น การศึกษา เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจที่ยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรี ตลอดจนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง และอื่น ๆ อีกมากมาย

12368.png

 

กลุ่มงานอาเซียน กองการต่างประเทศ  
นญา พราหมหันต์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญ รายงาน