0133782-.png

 

    วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 -16.00 น. นางวาสนา เตชะวิจิตรสาร ผู้อำนวยการกลุ่มงานอาเซียน และนางสาวนญา พราหมหันต์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ กลุ่มงานอาเซียน กองการต่างประเทศ สป. ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการเสวนาหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 12 (Twelfth ASEAN Public Private People Partnership on Rural Development and Poverty Eradication) ที่แซนด์ เอ็กซ์โป แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (Sands Expo & Convention Centre) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ 

355146.jpg

     การเสวนาหุ้นส่วนความร่วมมือฯ ครั้งที่ 12 เป็นเวทีสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อภารกิจในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบทในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยเวทีนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากองค์กรที่ได้รับรางวัลผู้นำอาเซียนฯ ครั้งที่ 6 ของประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำเสนอผลงานความสำเร็จที่โดดเด่นขององค์กรด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ และกลยุทธ์ในการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน โดยสรุปประเด็นสำคัญของการเสวนาได้ดังนี้

AF-1264.jpg

    1. นวัตกรรมด้านการคุ้มครองทางสังคม: เทคโนโลยีและการมีส่วนร่วม (Innovations in Social Protection: Technology and Inclusion) เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาปรับใช้ในกลไกการคุ้มครองทางสังคมและการบรรเทาความยากจน และมีการอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ยุคดิจิทัล และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้อย่างเท่าเทียม

     2. นโยบาย ความร่วมมือ และแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน (Policy, Partnerships and Sustainable Solutions) เป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย ปัจจัยความสำเร็จ และกลยุทธ์ของแต่ละภาคส่วนในการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนของแต่ละพื้นที่ ท่ามกลางบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย

     3. การเสริมสร้างพลังของชุมชน: พลังจากการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาความยากจน (Empowering Communities: Collective Force to achieve Poverty Alleviation) เป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนทางสังคมให้กับคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการคุ้มครองทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะกับผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ชนบท

     สำหรับประเทศไทยมีนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา เป็นผู้แทนองค์กรที่ได้รับรางวัลผู้นำอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 6 ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) ร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Development Zones: SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขความยากจนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ให้สามารถทำเกษตรกรรมตามศาสตร์พระราชา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่าย จากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน วางแผน และต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ตลอดจนมุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ในการสร้างผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Change Agent for Strategic Transformation: CAST) เพื่อร่วมผลักดันงานในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

12466.png

    นอกจากนี้ นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ได้นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองผ่านสถาบันพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ (City Transformation & Public Policy Institute: CTPI) ภายใต้โครงการ “กลไกการพัฒนาการเรียนรู้ของเมือง” ซึ่งองค์กรที่มีหน้าที่ในการร้อยเรียงให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้แต่ละองค์กรเข้ามาทำงานด้วยกันในสะท้อนปัญหาของแต่ละเมืองและร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการถอดรหัสเมือง วางแผนและบริหารจัดการเมือง พร้อมทั้งสร้างให้เกิดการร่วมทุน ระดมทุนระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

354967.jpg