17846418839106.png

วันนี้ (22 มี.ค. 2566) เวลา 13.30 – 16.00 น. นางวาสนา เตชะวิจิตรสาร ผอ.กอซ. และนายภาสกร รัตนสุวรรณ นวท.ปก. ได้เข้าร่วมประชุมหารือ เรื่องการปรับปรุงรายการข้อสงวนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) จาก 1 เป็น 2 ภาคผนวก ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นฝ่ายเลขาของการประชุมฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

1. ความเป็นมาของการปรับเปลี่ยนรายการข้อสงวนฯ
ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 หลักการ ได้แก่ 1) การเปิดเสรี 2) การให้ความคุ้มครอง 3) การส่งเสริมและ 4) การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio) ใน 5 สาขาการลงทุน ได้แก่ การผลิต การเกษตรประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และการบริการที่เกี่ยวข้องกับ 5 สาขาการลงทุนดังกล่าว สำหรับการเปิดเสรีภายใต้ความตกลง ACIA นั้น ประเทศสมาชิกสามารถสงวนมาตรการสำหรับกิจการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่อาจขัดกับพันธกรณีต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงได้ โดยรายการข้อสงวนภายใต้กรอบความตกลง ACIA ในปัจจุบันมี 1 ภาคผนวก ทั้งนี้ สำหรับมาตรการสำหรับกิจการในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรืออุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันแต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมในช่วงเวลาที่ยื่นรายการข้อสงวนนั้น ซึ่งรายการข้อสงวนแบบ 1 ภาคผนวกในความตกลง ACIA ดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ไม่เทียบเท่ากับความตกลง FTA มาตรฐานสูงอื่น ๆ ที่มีการจัดทำรายการข้อสงวนแบบ 2 ภาคผนวก (Two Annex Negative List) เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 (ในปีที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียน) ที่ประชุมคณะมนตรีเขตการลงทุนครั้งที่ 21 จึงได้มีมติให้เปลี่ยนรายการข้อสงวนภายใต้ความตกลง ACIA จาก 1 ภาคผนวกเป็น 2 ภาคผนวก โดยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

2. ประเด็นที่พิจารณาร่วมกัน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้หารือประเด็นคงค้างเกี่ยวกับการปรับปรุงรายการข้อสงวนภายใต้ความตกลง ACIA จาก 1 เป็น 2 ภาคผนวก ได้แก่ การขยายขอบเขตความตกลง และกลไกการผูกพันรายการข้อสงวนฯ ซึ่งสมาชิกอาเซียนเคยขอให้ไทยพิจารณาทบทวนท่าที ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ได้ขอความเห็นเบื้องต้นจากผู้เข้าร่วมประชุมฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเลขฯ จะมีหนังสือขอรับความเห็นที่เป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานต่างๆ และจะมีกำหนดจัดประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งต่อไป ก่อนแสดงท่าทีต่อที่ประชุมทราบในการประชุม CCI ครั้งที่ 83 ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 2- 4 พ.ค. 2566

17846418793386.png