17582496084746.jpg

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.00 - 15.30 น.

ร.ต. สรมงคล มงคละสิริ ผอ.ตท.สป. มอบหมายให้ นายณัฐพล อุดมเมฆ นวท.ปก. เป็นผู้แทน มท. เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา รูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โปรแกรม Cisco Webex Meeting) โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ วุฒิสมาชิก เป็นประธานการประชุม

การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ติดตาม เสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงาน SDGs

ในการนี้ผู้แทน มท. ได้ชี้แจงการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ในห้วงที่ผ่านมา และการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้

1) รายงานการจัดพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ 1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ลงนามต่อหน้า ปมท. และผู้แทน UN ประจำประเทศไทย
2) รายงานผลการจัดกิจกรรม Workshop SDGs มท. ร่วมกับ UN ประจำประเทศไทย
3) รายงานกรอบการขับเคลื่อน และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน SDGs ในปีงบประมาน พ.ศ. 2566 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผลแผนการขับเคลื่อนของทุกจังหวัด เพื่อวิเคราะห์ทิศทางการขับเคลื่อน SDGs ของแต่ละจังหวัดต่อไป
4) ชี้แจงแนวทางการนำแนวคิดการขับเคลื่อน SDGs ไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDG Localization) โดยการกำหนดประเด็นการขับเคลื่อน SDGs เป็นตัวชี้วัดของ ผวจ. ทุกจังหวัด ให้นำแนวคิด SDGs ไปขยายผลในระดับจังหวัดต่อไป
5) ชี้แจงกรอบการทำงานใน 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับโลก (Global) : ประสานภาคีเครือข่ายระดับโลกในการขับเคลื่อน SDGs ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมในภาพรวม
- ระดับภูมิภาค (Provincial) : วิเคราะห์ความสอดคล้อง ปรับปรุง และพัฒนาแผนพัฒนาจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการให้สามารถดำเนินการตามแนวทาง SDG ได้
- ระดับท้องถิ่น (Localizing) : ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในระดับชุมชนที่เป็นรูปธรรม โดยประสาน 7 ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable village) โครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ เป็นต้น

โดยผู้แทน มท. ให้ข้อสังเกตถึงการปรับปรุงตัวชี้วัดระดับโลก ให้สามารถประยุกต์ใช้ในระดับท้องถิ่นได้ จะทำให้การขับเคลื่อนงานทำได้ง่ายขึ้น และสามารถรายงานผลต่อUN ได้ง่าย โดยให้ สศช. เป็นหน่วยงานกลางในการเป็นพี่เลี้ยงให้จังหวัดในกระบวนการดังกล่าว

อนึ่ง คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุงการขับเคลื่อนงาน SDGs ของ มท. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่น
- การหาภาคีเครือข่ายภาควิชาการ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่มาช่วยในด้านวิจัยและพัฒนา
- การให้ภาคเอกชน และประชาชนมามีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาพื้นที่
- อย่ายึดติดกับตัวชี้วัดระดับโลกมากเกินไป ให้สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมตามภูมิสังคม
- วิเคราะห์หาจุดเด่นของแต่ละจังหวัดและเน้นการขับเคลื่อน SDGs ในประเด็นที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

17582496572893.jpg

17582496601130.jpg