514578.jpg

มหาดไทย ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ คณะผู้แทน UNDP เตรียม 15 จังหวัดนำร่อง เพื่อเร่งนำโมเดลขยายผลทั่วประเทศต่อไป

.
วันนี้ (7 ก.พ. 66) เวลา 15.30 น. ณ ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนในการต้อนรับและหารือแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับ นายเรโน เมแย (Mr. Renaud Meyer) ผู้แทน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ประจำประเทศไทย พร้อมคณะฯ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือ Ms. Reidun Gjerstad ที่ปรึกษาด้าน SDGs นายธนวัฒน์ วชิระทองคำ ผู้ช่วยด้านวิจัยและประสานงาน SDGs และนายวัชริศ เหมพัฒน์ ผู้ช่วยโครงการ SDGs Localization โดยมี ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ นางจริยา ชุมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ นายสราวุธ สุขรื่น ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้การต้อนรับและร่วมหารือด้วย
.
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ ด้วยแนวคิด Change for Good โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่งทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาว ด้วยแนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ อย่างเป็นรูปธรรมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนพึ่งพาตนเองและมีการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (No poverty) เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) เป็นต้น โดยกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนโครงการนี้ ควบคู่กับหลาย ๆ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่มีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนทั่วประเทศร่วมดำเนินการ ซึ่งล้วนแต่เป็นการช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราให้มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น
.
นายเรโน เมแย (Mr. Renaud Meyer) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากกระทรวงมหาดไทย และเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทาง UNDP มีเป้าหมายในการขับเคลื่อน SDGs ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเช่นกัน โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะเริ่มต้น UNDP ได้หารือร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คัดเลือกจังหวัดนำร่อง จำนวน 15 จังหวัด ซึ่งคัดเลือกจากความหลากหลาย ทั้งความเป็นเมือง – ชนบท มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล – ภูเขา เป็นพื้นที่อุตสหกรรม – พื้นที่เกษตร เป็นต้น โดย UNDP ได้มีการเตรียมความพร้อมและมอบหมายผู้จัดการโครงการฯ พร้อมทีมงาน เข้าดำเนินการในพื้นที่แต่ละจังหวัดแล้ว สำหรับเป้าหมายในการหารือในวันนี้ มี 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือ ความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ โดยต้องการให้ทุกจังหวัดมอบหมายผู้ประสานงาน (Focal Point) ร่วมดำเนินงาน และอำนวยความสะดวกในการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ร่วมวางแผน และติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ซึ่งจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการประเมินผล ผ่านคำถามสั้น ๆ 2 – 3 คำถาม ที่แสดงให้เห็นว่ามีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม และในระยะต่อไป UNDP จะเป็นจุดเชื่อมโยงให้กับ Agency อื่น ๆ ภายใต้การบริหารของ UN ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งในแต่ละเรื่องที่จังหวัดนำร่องทั้ง 15 จังหวัด ยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน เช่น มีระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะประสานให้ WHO เข้ามาร่วมดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนั้น เป็นต้น ประเด็นที่ 2คือ ต้องการให้กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญร่วมขยายผลการขับเคลื่อนไปยังทุกจังหวัดแบบคู่ขนาน เนื่องจากแหล่งงบประมาณที่สนับสนุน UNDP ยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินการทุกจังหวัด แต่ปัญหาดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนทันที
.
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำหรับ 15 จังหวัดนำร่องที่ UNDP กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย ประกอบ 1) กรุงเทพมหานคร พื้นที่เป้าหมายความร่วมมือของ UN เรื่อง SDGs 2) จ.เชียงใหม่ พื้นที่เป้าหมายโครงการลดก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซต์ 3) จ.เชียงราย พื้นที่เป้าหมายโครงการลดมลพิษ PM 2.5 4) จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่เป้าหมายโครงการส่งเสริมพลังงานสะอาดระดับชุมชน 5) จ.ตาก พื้นที่เป้าหมายโครงการส่งเสริมพลังงานสะอาดระดับชุมชน 6) จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เป้าหมายโครงการการจัดการขยะ 7) จ.เพชรบุรี พื้นที่เป้าหมายโครงการบริหารจัดการชายฝั่งระดับชุมชน 8) จ.ภูเก็ต พื้นที่เป้าหมายโครงการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชุมชนด้าน SDGs 9) จ.นครราชสีมา พื้นที่เป้าหมายโครงการขนส่งสะอาด 10) จ.อุดรธานี พื้นที่เป้าหมายความร่วมมือของ UN เรื่อง SDGs 11) จ.อุบลราชธานี พื้นที่เป้าหมายโครงส่งเสริมการหารือระหว่างภาครัฐและประชาสังคม 12) จ.สงขลา พื้นที่เป้าหมายโครงการท้องถิ่นต้นแบบเรื่อง SDGs 13) จ.ปัตตานี พื้นที่เป้าหมายโครงการนวัตกรรมด้านอาหารที่ยั่งยืนระดับท้องถิ่น 14) จ.ยะลา พื้นที่เป้าหมายโครงการนวัตกรรมด้านอาหารที่ยั่งยืนระดับท้องถิ่น โครงการส่งเสริม และ 15) จ.นราธิวาส พื้นที่เป้าหมายโครงการนวัตกรรมด้านอาหารที่ยั่งยืนระดับท้องถิ่น
.
“ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่มีน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นฐานคิดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ มาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาคน ให้คนไปพัฒนาพื้นที่อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติอย่างยั่งยืน ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยมีในฐานะข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความตั้งใจที่จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็นโอกาสดีที่ UNDP ได้มาร่วมหารือกัน โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับวันนี้จัดทำเป็นร่างสรุปแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อกำหนดวางกรอบแนวทาง และแผนการดำเนินร่วมกันให้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถร่วม kick-off โครงการสร้างความยั่งยืนไปด้วยกันกับองค์กรภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติต่อไป” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย
.
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2566
วันที่ 7 ก.พ. 66

514577.jpg

514574.jpg

514575.jpg

514576.jpg