17878470358167.jpg

มหาดไทยเสริมสร้างพลังความร่วมมือ หลอมรวมพลัง “ทีมมหาดไทย” สร้าง Partnership มุ่งบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันนี้ (27 มี.ค. 66) 15.00 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นางสุจิตรา ศรีนาม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้กลไกคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและ UNDP เพื่อนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) โดยในเบื้องต้นจะนำไปปฏิบัติใน 15 จังหวัดนำร่องที่ทาง UNDP ได้คัดเลือก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งทั้ง 15 จังหวัดถือเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางด้านภูมิสังคมและกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยกรอบเวลาการดำเนินงานของ UNDP ได้เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 - เมษายน 2567 ภายใต้กรอบการพัฒนาแผนที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด การจัดทำแผนงบประมาณทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้ตรงตามเป้าหมาย การให้ข้อมูลและส่งเสริมการทำงานของรัฐเพื่อแก้ปัญหาด้านงานพัฒนาได้ตรงจุด และการให้มีพื้นที่ของการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ไข รวมถึงเป็นผู้ร่วมปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

17878469732238.jpg

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทยยังได้มีการดำเนินการจัดทำการรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของไทย (Voluntary National Review: VNR) โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระหว่างประเทศในกรอบสหประชาชาติ ซึ่งโครงการและกิจรรมสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่ถูกนำเสนอมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 37 โครงการ/กิจกรรมด้วยกัน นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินการในเรื่องความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) ในการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระหว่างกระทรวงมหาดไทยและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) ในอนาคต โดยความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะเป็นการดำเนินการใน 2 มิติ ได้แก่ 1) มิติการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และ 2) มิติการขับเคลื่อน SDGs ในภาพรวม ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายหลัก ซึ่งในมิตินี้ จะครอบคลุมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมสำหรับการติดตามและรายงานผล SDGs โดยการสนับสนุนด้านซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ และบุคลากรในการดำเนินการโดย GIZ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการผลงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งความร่วมมือนี้ จะส่งผลให้การปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทย และการขับเคลื่อน SDGs เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยในระยะถัดไปนั้น ได้มีการกำหนดกรอบการขับเคลื่อน 3 ระดับ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อน SDGs ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในสังกัดสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเครือข่ายการพัฒนาระดับโลก 2) การขับเคลื่อน SDGs ในระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการสร้างกลไกระดับจังหวัดผ่านการจัดทำแผนการขับเคลื่อน SDGs และการปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัด 3) การขับเคลื่อน SDGs เชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการประสานภาคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ โดย 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน SDGs ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีขั้นตอน คือ 1. การสร้างการตระหนักรู้ ผ่านกิจกรรม อาทิ Workshop ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย 2. การปรับกระบวนงาน อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค 3. การดำเนินการพัฒนาตามแผนการขับเคลื่อน SDGs 4. การติดตาม ประเมินผล โดยกำหนดให้มีการดำเนินการทุกไตรมาส เพื่อสามารถปรับปรุงการพัฒนาได้เป็นระยะ, การประเมินผลการดำเนินงานในภาพรวม และการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานการขับเคลื่อน SDGs ที่เป็นเลิศ

“การประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับองค์กรต่าง ๆ ในด้านการดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จนั้น สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ “ผู้นำ” ต้องเป็นผู้ปลุกระดม สร้าง Passion ให้กับทุกหน่วยงานในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน และหัวใจของการขับเคลื่อน SDGs นั้น คือ การที่พวกเราชาวมหาดไทยทะลายความเป็นกรม ความเป็นสำนัก ความเป็นกอง ความเป็นส่วน เป็นกลุ่มงาน เป็นฝ่าย และเป็น “ทีมเดียว” ที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตาม 17 เป้าหมายของ UN โดยในกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ต้องเริ่มจากคนมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำในระดับพื้นที่เริ่มทำเป็นตัวอย่าง และเมื่อผู้นำในระดับพื้นที่ทำ ทีมงานก็จะร่วมเดิน พี่น้องประชาชนก็จะร่วมมือและร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ก่อเกิดการรวมกลุ่มเป็นภาคีในระดับพื้นที่ (Partnership) นำไปสู่การพัฒนาชุมชนโดยพลังของชุมชน เน้นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้าย


ข้อมูลจาก กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 293/2566
วันที่ 27 มี.ค. 2566

17878469803341.jpg

17878469843981.jpg

17878469914653.jpg

17878469980824.jpg

17878470018243.jpg

17878470046407.jpg

17914864758896.jpg

17914864988806.jpg

17914865462884.jpg

17914865523778.jpg