16193497033364.jpg

ปมท. ได้มอบหมายนายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผวจ.พช.ชรก. สป.มท. เป็นผู้แทน มท. พร้อมด้วย นายวรพจน์ จตุรนต์รัศมี ผู้อำนวยการกลุ่มงานความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ตท.สป. และนางสาวนิศรา ปานช้าง นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ ตท.สป. เข้าร่วมประชุมเรื่องร้องเรียนเลขดำที่ 540/2565 กรณีประชาชนในอำเภอพบพระและอำเภอแม่สอด ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาริมฝั่งแม่น้ำเมยตรงข้ามบ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และกรณีโรงพระเจ้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านแม่กุหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกมวลน้ำกัดเซาะจนเป็นเกาะกลางน้ำ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม 901 ชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. โดยมีนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธาน

ผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการในการแก้ปัญหาในระยะสั้น (มาตรการเร่งด่วน) เพื่อป้องกันมวลน้ำกัดเซาะตลิ่งในฝั่งไทยในแนวชายแดน จ.ตาก ซึ่งมีเขตแดนที่ติดกับแม่น้ำเมย 305 กม. แม่น้ำการ่า 31 กม. และ อ.อุ้มผาง 97 กม. ได้แก่
1.1 ในปีงบประมาณ 2565 ยผ. มีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในพื้นที่ จ.ตาก จำนวน 4 โครงการ (อยู่ระหว่างเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง) ได้แก่ (1) ริมแม่น้ำเมย บ.แม่กุใหม่ ม.9 ต.แม่กุ อ.แม่สอด (2) ริมแม่น้ำเมย บ.ดอนไชย ม.6 ต.แม่ดาว อ.แม่สอด (3) ริมห้วยวาเลย์ (พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์) บ.วาเลย์ใต้ ม.2 ต.วาเลย์ อ.พบพระ และ (4) ริมแม่น้ำเมย บ.วัดตะเคียนใต้ ม.7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด
1.2 แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามวลน้ำกัดเซาะตลิ่งในฝั่งไทยในระดับพื้นที่

2. มาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและพื้นที่ที่ไม่ได้มีการก่อสร้างเขื่อนเชิงบูรณาการ (มาตรการต่อเนื่อง) เพื่อป้องกันมวลน้ำกัดเซาะตลิ่งในฝั่งไทยและป้องกันการสูญเสียเขตแดนทางบก รวมทั้งแนวทางการดำเนินการและการหารือระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แก่
2.1 การสำรวจเขตแดนตามลำน้ำ โดยพิจารณาจาก (1) บริเวณเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ฝ่ายเมียนมาได้จัดทำแล้ว (2) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ ยผ. มีแผนจะดำเนินการ และ (3) พื้นที่วิกฤต
2.2 การใช้กลไกของคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee: TBC) ร่วมหารือกับฝ่ายเมียนมาในการประสานงาน เพื่อสำรวจเขตแดนร่วมกัน และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันทั้งสองประเทศ

3. การบูรณาการด้านงบประมาณ
เจ้าของพื้นที่ที่จะมีการจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่งควรเป็นหน่วยดำเนินงานหลัก ซึ่งอาจใช้งบประมาณจากหลายภาคส่วน อาทิ ยผ. อปท. จท. ทั้งนี้ ผู้แทน มท. ได้นำเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาแม่น้ำกัดเซาะตลิ่งของสุไหงโก-ลก และเกาะเกร็ด เพื่อให้เป็นแนวทางในการบูรณาการการจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่งใน จ.ตาก ต่อไป

4. การแก้ไขกฎหมาย
เห็นควรดำเนินการขอมติ ครม. ในส่วนที่ผ่อนผันการให้ส่วนราชการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ที่จำเป็นไปพลางก่อน เช่นเดียวกับมติ ครม. การผ่อนผันการให้ส่วนราชการที่ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริและโครงการเพื่อความมั่นคง เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ขออนุญาตเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ตามที่ผู้แทน มท. ได้นำเสนอ อนึ่ง ประธานในที่ประชุมฯ เสนอให้ มท. กต. และ ผท.ทหาร ประสานงานกันเพื่อพิจารณาขอมติ ครม. ดังกล่าว

ภาพการประชุม

16193497092650.jpg

16193497055986.jpg

16193497119498.jpg